เรื่องเล่าจากรัฐฉาน หอเจ้าฟ้า ในความทรงจำ

01 มกราคม 2019, 15:04:03

เรื่องเล่าจากรัฐฉาน ‘หอเจ้าฟ้า’ ในความทรงจำ


 
‘เราได้ให้คำมั่นสัญญากันไว้ที่ป๋างโหลง เพื่อให้คนไตก่อตั้งเป็นประเทศปกครองเอง แต่จนถึงตอนนี้ ผ่านมาแล้ว 10 ปี 20 ปี ไหนล่ะคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ทำไมเราถึงยังไม่ได้รัฐฉานกลับคืน หรือสัญญาป๋างโหลงตายไปพร้อมกับนายพลอองซานแล้วหรือไร จนถึงตอนนี้ ใครหลอกลวงใคร ไม่บอกก็รู้ แต่คนไตทุกคนรู้ดี’



ประวัติศาสตร์การเมืองที่เกิดขึ้นในรัฐฉานถูกสะท้อนออกมาเป็นบทเพลงเก่าซึ่งยังคงฮิตติดหูในหมู่คนไทใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ มากกว่านั้นตอกย้ำถึงความเจ็บใจที่ไม่มีวันหายจากการที่ต้องสูญเสียรัฐฉานให้พม่า นับตั้งแต่การลงนามสัญญาป๋างโหลง ผ่านมาแล้ว 68 ปี ความฝันที่จะแยกตัวก่อตั้งเป็นประเทศของคนไทใหญ่ที่ระบุไว้ในสัญญาป๋างโหลงนั้นไม่เคยเป็นจริงเลยสักครั้ง

รัฐฉาน หรือเมืองไต เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด มีพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นผืนป่าและภูเขาสูง เป็นรัฐที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรรมชาติ ตั้งแต่ในอดีตเรื่อยมาจนถึงปี 2502 รัฐฉานได้ปกครองด้วยระบบเจ้าฟ้า หรือคล้ายๆ กับเจ้าเมืองปกครอง โดยเจ้าฟ้าสืบทอดเชื้อสายในตระกูล ในบันทึกประวัติศาสตร์ยุคอาณานิคมของอังกฤษ รัฐฉานมีเจ้าฟ้าปกครองทั้งสิ้น 34 หัวเมือง เจ้าฟ้าอาจไม่ใช่คนไทใหญ่ทั้งหมด เช่น ที่เมืองน้ำสั่น ทางเหนือรัฐฉาน เจ้าฟ้าคือ เจ้าขุนปานจิ่ง ซึ่งเป็นชาวปะหล่อง เจ้าฟ้าเมืองป่างตะละ เจ้าวินจี่ เป็นชาวทะนุ เป็นต้น แต่แม้จะแตกต่างหลากหลายชาติพันธุ์อยู่ด้วยกันในรัฐฉาน แต่ผู้คนในยุคนั้นต่างพึ่งพาถ้อยทีถ้อยอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง นายพลอองซาน (บิดาของนางอองซาน ซูจี) ได้หันมาโน้มนาวให้รัฐต่างๆ รวมถึงรัฐฉานร่วมกับพม่าเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ด้วยความที่ไม่เชื่อใจพม่ามาตั้งแต่ต้น ทางเจ้าฟ้าจึงได้ขอให้มีการทำข้อตกลงกันไว้ที่เมืองป๋างโหลง ทางใต้ของรัฐฉานเมื่อปี 2490 ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า “สัญญาป๋างโหลง” ซึ่ง 1 ใน 9 ข้อตกลงนั้นระบุไว้ว่า หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษและอยู่ร่วมกับพม่าครบ 10 ปี รัฐฉาน รัฐชินและรัฐคะฉิ่นที่เข้าร่วมลงนามสัญญาป๋างโหลงมีสิทธิ์แยกตัวออกจากพม่าไปตั้งประเทศได้ตามที่ต้องการ ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกของพม่าก็มีการเขียนไว้ด้วยว่า ‘รัฐฉานสามารถเป็นอิสระจากพม่าได้ในปี 2501’

หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐต่างๆ และพม่าได้รวมตัวก่อตั้งเป็นสหภาพพม่าขึ้น มีประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีและใช้ระบบสภา แต่อาจกล่าวได้ว่า การรวมกันเป็นสหภาพนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายพลอองซาน มาตั้งแต่ต้น แต่มาจากริเริ่มของเจ้าฟ้าไทใหญ่ ที่พยายามก่อตั้งสหภาพขึ้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ 2488 โดยในตอนแรกมีแนวคิดจะร่วมกับรัฐคะฉิ่นและรัฐชิน แต่ไม่รวมกับพม่า

ความพยายามขอแยกตัวออกมาจากพม่ายังไม่ประสบความสำเร็จ ในปี 2502 เจ้าฟ้าถูกขอให้สละอำนาจ ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกับพม่า แต่ความไม่ชอบมาพากลเริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อกองทัพพม่าได้ส่งทหารพม่าเข้ายึดครองพื้นที่ต่างๆ ของรัฐฉาน โดยใช้ข้ออ้างเข้ามาปราบปรามทหารก๊กมินตั๋งที่ถอยร่นมาจากประเทศจีน แต่ฝันร้ายที่สุดของรัฐฉานเกิดขึ้นจนได้ในปี 2505 เมื่อนายพลพม่านามว่า ‘เนวิน’ ได้ยึดอำนาจและปกครองประเทศโดยระบอบเผด็จการทหาร

สิ้นเจ้าฟ้า
 

หลังเนวินยึดอำนาจในปี 2505 เจ้าฟ้าเมืองต่างๆ ทุกพระองค์ถูกจับกุมตัวไปคุมขังไว้ที่คุกอินเส่ง ในย่างกุ้งเป็นเวลานานเกือบนับ 10 ปีในฐานะนักโทษทางการเมือง เจ้าฟ้าบางพระองค์สิ้นพระชนม์ในคุก หนึ่งในนั้นคือเจ้าฟ้าส่วยแต้ก แห่งเมืองหยองห้วยที่สิ้นพระชนม์จากโรคหัวใจล้มเหลว หลังอยู่ในคุกนานกว่า 8 เดือน


 
ก่อนหน้าที่เนวินจะยึดอำนาจนั้น เจ้าส่วยแต้กดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศพม่า ในหนังสือ ‘The White Umbrella’  ได้กล่าวไว้ว่า ในงานพิธีศพของเจ้าส่วยแต้กที่จัดขึ้นที่วังหยองห้วยนั้น มีประชาชนจำนวนมาก ทั้งชาวไทใหญ่ ชาวพื้นเมืองที่เดินเท้ามาจากภูเขาอันห่างไกลเป็นเวลาหลายวันเพื่อมาเคารพศพของเจ้าส่วยแต้กเป็นครั้งสุดท้าย ภาพของผู้คนจำนวนมากที่มาร่วมงานศพของเจ้าฟ้าองค์นี้กลายเป็นภาพที่แสดงออกถึงการต่อต้านไม่ยอมรับกองทัพพม่าโดยปราศจากอาวุธ เป็นงานศพเจ้าฟ้าที่จัดอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติและเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นในรัฐฉาน

อีกหนึ่งเจ้าฟ้าที่ชีวิตพลิกผันนั่นคือ ‘เจ้าจายหลวงแห่งเมืองเชียงตุง’ เมืองใหญ่สำคัญอันดับต้นๆ ของรัฐฉาน เจ้าจายหลวงที่สำเร็จการศึกษามาจากต่างประเทศและเพิ่งได้ขึ้นบริหารเมืองเชียงตุงเพียง 15 ปี ถูกเนวินจับคุมขังเป็นเวลา 6 ปี ที่คุกอินเส่ง มรสุมชีวิตของท่านยังไม่จบแค่นั้น ถึงแม้ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเชียงตุง ต้องใช้ชีวิตอยู่ที่ย่างกุ้งจนวาระสุดท้าย เจ้าจายหลวงวัย 70 ปี สิ้นพระชนม์ที่ย่างกุ้งเมื่อปี 2540 โดยไม่มีโอกาสได้เห็นบ้านเกิด ปิดฉากเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายแห่งเชียงตุง

ส่วนเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าสีป้อ เมืองทางเหนือได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ในวันที่เนวินยึดอำนาจ อิงเง เซอร์เจน หรือ เจ้าสุจันทรี มหาเทวี ของเจ้าจ่าแสงเชื่อว่า เจ้าจ่าแสงนั้นถูกทหารของเนวินจับตัวไป เพราะหลังถูกจับตัวไปไม่นานได้รับจดหมายข้อความสั้นๆ จากเจ้าจ่าแสงที่ระบุว่า ถูกจับตัวไว้ที่กระท่อมแห่งหนึ่ง แต่เมื่อหลายปีผ่านไป ไม่ได้รับข่าวของเจ้าฟ้าสีป้ออีกเลย เจ้าสุจันทรีจึงได้พาธิดาทั้งสอง ซึ่งก็คือ ‘เจ้าเกนรี’ และ ‘เจ้ามายารี’เดินทางออกจากพม่า ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐฯจนถึงปัจจุบัน
 

เรื่องราวความรักของเจ้าจ่าแสงและอิงเง เซอร์เจน ซึ่งเป็นเรื่องราวของเจ้าชายกับหญิงสามัญชน ยิ่งเป็นหญิงชาวต่างชาติด้วยแล้ว ยิ่งไม่พบเห็นบ่อยนักในสมัยนั้น แต่มหาเทวีซึ่งเป็นชาวต่างชาติผู้นี้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวเมืองสีป้อ ทุกๆ ปี ตั้งแต่ยุคเนวินถึงยุคเต็งเส่ง ธิดาทั้งสองยังคงทวงถามรัฐบาลพม่าว่าเจ้าจ่าแสงนั้นอยู่ที่ไหน อย่างน้อยก็เพื่อให้ยอมรับว่าเป็นผู้จับกุมตัวเจ้าจ่าแสงไป แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากรัฐบาลพม่า
 
ชะตาชีวิตครอบครัวของเจ้าฟ้าอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างกัน ต้องเผชิญกับการพลัดพรากลาจาก ครอบครัวของเจ้าฟ้าบางส่วนตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ขณะที่บางส่วนที่เหลืออยู่ในพม่าต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ภาวะความกดดันและถูกจับตาอย่างเข้มงวด สูญสิ้นยศฐาบรรดาศักดิ์

ชะตากรรมหอเจ้าฟ้า มรกดล้ำค่าถูกทำลาย
 

หลังระบบเจ้าฟ้าถูกถอนรากถอนโคน ความโหดร้ายที่ทหารพม่าทำกับรัฐฉานยังไม่จบเพียงแค่นั้น ทหารของเนวินได้กดขี่ประชาชนชนของเจ้าฟ้า ทุบทำลายและเผา ‘หอเจ้าฟ้า’ ทิ้ง อันเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ที่พึ่งทางจิตใจและเป็นมรดกวัฒนธรรมประวัติศาสตร์อันล้ำค่าของคนไทใหญ่จนแทบหมดสิ้นจากแผ่นดินรัฐฉาน หนึ่งในนั้นคือ ‘หอหลวงเชียงตุง’

ในบรรดาเมืองในรัฐฉานนั้น เชียงตุงนั้นถือเป็นเมืองรุ่งเรืองมั่งคั่งและมีความสำคัญอีกเมืองหนึ่งของรัฐฉาน เช่นเดียวกับหอหลวงเชียงตุง ที่สร้างขึ้นอย่างงดงามและใหญ่โตที่สุดในบรรดาหอหลวงเจ้าฟ้า โดยสร้างขึ้นในปี 2448 สร้างขึ้นหลังจากที่เจ้าอินแถลง ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงตุงในยุคนั้นเดินทางกลับจากอินเดีย หอหลวงเชียงตุงนั้นออกแบบผสมผสานระหว่างอินเดียและยุโรป มีหลังคาโดดเด่นแบบไทเขิน เป็นที่ทำงานว่าราชการและที่พำนักของครอบครัวเจ้าฟ้า

ภายหลังยึดอำนาจ ทหารพม่าได้ยึดเอาหอเชียงตุงและยึดเอาทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ภายในหอและทรัพย์สินของเจ้าจายหลวง เจ้าฟ้าเชียงตุงขณะนั้น ในปี 2534 ทหารพม่าได้ทุบทำลายหอหลวงเชียงตุงทิ้งอย่างน่าเสียดาย แม้จะถูกห้ามปรามและร้องขอจากชาวเมืองเชียงตุงก็ไม่เป็นผล ทหารพม่ายังย่ำยี ดูถูกคนเชียงตุงโดยการนำซากไม้หอหลวงเชียงตุงไปสร้างเป็นสะพานเข้าเมืองเชียงตุง หรือนำเศษซากอิฐ หิน ปูน ไปเททับพื้นถนนรอบเมืองเชียงตุงเพื่อให้คนเหยียบย่ำ ในปี 2540 ยังสร้างโรงแรมขื่อ ‘นิวเชียงตุง’ ขึ้นมาบนพื้นที่ซึ่งเคยมีหอหลวงตั้งอยู่ เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเจ็บช้ำใจให้คนในเมืองเชียงตุงและคนในรัฐฉานมาจนถึงทุกวันนี้
 

 
นอกจากนี้ ยังมี ‘หอเมืองแสนหวี’ ที่ถูกทหารพม่ายึดเป็นค่ายทหาร โดยได้ทำลายและปล่อยทิ้งร้าง จนปัจจุบันเหลือแค่ซากปรักหักพัง ขณะที่เจ้าฟ้าบางเมือง อย่างเจ้าฟ้าเมืองใหยตัดสินใจที่จะทำลาย ‘หอเมืองไหญ’ ทิ้งเอง เพื่อไม่ให้ทหารพม่ายึดไปใช้ ‘หอสะก่านต่า’ ซึ่งตั้งอยู่ตรงเนินเขาในเมืองจ้อกเม ซึ่งเป็นหอของเจ้าฟ้าสี่ป้อ สร้างขึ้นในต้นปี 2443 และได้รับความเสียหายจากเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกทิ้งร้างไร้คนดูแลอย่างน่าเสียดาย


ส่วนหอเจ้าฟ้าเมืองเกซี ตั้งอยู่ที่บ้านจ๋ามเกซี ทางตอนกลางของรัฐฉาน หอแห่งนี้เคยเป็นที่พำนักของเจ้าส่วยหมุ่ง เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเมืองเกซี แต่ก็เผชิญชะตากรรมไม่แตกต่างกัน ถูกกองทัพพม่ายึดเป็นของหลวงพร้อมกับปล้นสดมเอาทรัพย์สินที่อยู่ในหอไปจนหมดสิ้น ในเวลาต่อมาจึงยอมคืนหอให้กับชาวเมืองเกซี หลังจากชาวบ้านได้เจรจาขอคืนอยู่หลายครั้ง ซึ่งต่อมาชาวบ้านได้ถวายให้กับคณะสงฆ์ไทใหญ่ ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกว่า ‘จองหอ’ ที่เมืองเกซียังเหลือหอเจ้าฟ้าส่วยหมุ่งอีกหลังหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ ‘หอแก๋มเมือง’ หรือ ‘หออุปราช’ เป็นที่พำนักของเจ้าส่วยหมุ่งก่อนที่จะได้ขึ้นเป็นเจ้าฟ้า หอแก๋มเมืองสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เป็นหอเจ้าฟ้าที่ยังสมบูรณ์งดงามอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีทายาทอาศัยอยู่ นอกจากนี้ยังมีหอเจ้าฟ้าลายค่า ที่ตอนนี้ถูกยกให้เป็นวัด ขณะที่หอเจ้าฟ้าเมืองนายถูกทางการพม่ายึดเป็นสถานที่ราชการ


หอเจ้าฟ้าที่น่าเสียดายอีกแห่งหนึ่งคือ ‘หอหยองห้วย’ ตั้งอยู่ที่เมืองหยองห้วย (หย่องฉ่วย) อยู่ไม่ไกลจากทะเลสาบอินเล สถานท่องเที่ยวชื่อดังแห่งเมืองตองจี สร้างในสมัยของเจ้าฟ้าส่วยแต้ก หอหยองห้วยสร้างขึ้นผสมผสานศิลปะมัณฑะเลย์ เป็นอาคารสองชั้น โดยชั้นล่างก่ออิฐและชั้นบนสร้างด้วยไม้ มีอาคารสามหลังติดกัน ภายในหอมีแท่นประทับบัลลังก์ทองสำหรับให้เจ้าฟ้าประกาศราชโองการและว่าราชการ นอกจากนี้ยังมีห้องโถงใหญ่สำหรับจัดพิธีต่างๆ ในปี 2512 หอหยองห้วยถูกบันทึกไว้ว่ามีพื้นที่อาณาบริเวณทั้งสิ้น 28 ไร่ แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 19 ไร่
 
‘หอหยองห้วย ‘ถูกทหารพม่ายึดไว้และถูกทิ้งร้างเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่ในภายหลังจะปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและเปิดให้ประชาชนเข้าชม ปัจจุบันภายในหอหยองห้วยได้นำข้าวเครื่องใช้บางอย่างของเจ้าฟ้าที่ยังเหลือ และประวัติหอแห่งนี้มาจัดแสดงแก่นักท่องเที่ยวที่เข้าชม ในปี 2556 ทางการพม่าได้คืนหอหยองห้วยให้กับรัฐบาลท้องถิ่นรัฐฉานเป็นผู้ดูแล ล่าสุด ‘เจ้าเห่หม่าแต้ก’หนึ่งในธิดาของเจ้าส่วยแต้กกับเจ้าเมียะวิน ชายาอีกพระองค์หนึ่ง ได้ยื่นเรื่องต่อประธานาธิบดีเต็งเส่ง เพื่อขอคืนหอหยองห้วยแล้ว แต่ก็ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากรัฐบาล



 
หอที่ได้รับการกล่าวขานว่างดงามอีกแห่งหนึ่ง คือ ‘หอสีป้อ’ หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งก็คือ ‘หอตะวันออก’ สร้างขึ้นในปี 2467 เป็นอาคารสองชั้นสีขาวสไตล์ยุโรป มีหน้าต่างแบบฝรั่งเศสยาวจรดพื้น และมีห้องรับแขกที่กว้างขวางโอ่อ่าตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบยุโรป หอแห่งนี้ยังทำหน้าที่รับแขกคนสำคัญไปจนถึงประชาชนคนธรรมดาที่มาเข้าเฝ้าคาระวะหรือมาขอความช่วยเหลือจากเจ้าฟ้า หอแห่งนี้เคยเป็นที่ทำงานและที่พำนักของครอบครัวเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของสี่ป้อ นั่นคือเจ้าจ่าแสง

เจ้าอูจ่าและเจ้าจ๋ามพงษ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายและหลานสะใภ้ของเจ้าจ่าแสงได้รับช่วงต่อเป็นผู้ดูแลหอแห่งนี้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หลายสิบปีภายใต้รัฐบาลทหาร หอแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่ต้องห้ามสำหรับคนภายนอก ปี 2548 เจ้าอูจ่าเคยถูกทหารพม่าตัดสินจำคุกเป็นเวลา 13 ปี หลังเปิดให้ชาวต่างชาติเข้าเยี่ยมชมหอแห่งนี้ หอเจ้าฟ้าสี่ป้อแห่งนี้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ตั้งแต่เมื่อปี 2554 และแม้จะรอดพ้นจากการถูกทำลายมาได้ แต่หอแห่งนี้ก็ทรุดโทรมลงไปมากตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงเป็นหอตะวันออกที่ยังตั้งตระหง่านอยู่ข้างแม่น้ำตู้ เป็นสิ่งย้ำเตือนให้คนสี่ป้อระลึกถึงเจ้าฟ้าหนุ่มที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

ภายใต้รัฐบาลทหารในหลายสิบปีมานี้ ภาษาไทใหญ่และภาษาชาติพันธุ์ยังเป็นสิ่งต้องห้าม อีกทั้งรัฐบาลทหารพม่ายังพยายามยัดเยียดความเป็นพม่าให้กับคนในรัฐฉาน ชื่อเมืองในรัฐฉานหรือชื่อคนไทใหญเอง ถูกเขียนใหม่เป็นภาษาพม่าและออกเสียงสำเนียงพม่า ทำให้ความหมายของชื่อเมืองเปลี่ยนไปหรือมีความหมายที่ไม่เป็นมงคล

การแผ่สัญลักษณ์ของพม่าผ่านการสร้างเจดีย์ชเวดากองจำลองตามเมืองต่างๆ ในรัฐฉาน การสร้างอนุสรณ์สถานใหม่ๆ เพื่อแสดงแสนยานุภาพของอดีตกษัตริย์พม่าข่มขวัญคนท้องถิ่น

ยังไม่นับรวมกับที่พม่าปล้นเอาทรัพยากรธรรมชาติในรัฐฉานจนร่อยหรอ รวมไปถึงโครงการพัฒนาต่างๆ ที่มีแผนจะสร้างในรัฐฉาน หนึ่งในโครงการที่น่าเป็นห่วง คือการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน (น้ำคง) สายน้ำเส้นเลือดใหญ่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ไทใหญ่มายาวนาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่โดยตรงแถมไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากโครงการเหล่านี้ นี่เป็นสิ่งที่คนในรัฐฉานกำลังเผชิญอยู่ กลับกันรัฐบาลพม่ากลับบูรณะซ่อมแซมพระราชวังพม่าอย่าง พระราชวังพะโค พระราชวังมัณฑะเลย์ไว้เป็นอย่างดีและอวดต่างชาติอย่างภาคภูมิใจ ในขณะที่ไล่รื้อทำลายเหยี่ยบย่ำมรดกทางวัฒนธรรมของชนชาติอื่นให้จมหาย

ที่มา : www.
transbordernews.in.th
 



 

 



**************************************************
บริการจัดทัวร์ 
ทัวร์เชียงตุง ทัวร์เมืองยอง ทัวร์สิบสองปันนา ทัวร์คุนหมิงจีน ทัวร์หลวงพระบาง ทัวร์วังเวียงลาว ทัวร์มัณฑเลย์ ทัวร์พุกาม ทัวร์ทะเลสาบอินเล ทัวร์ตองจี ทัวร์รัฐฉาน

บริษัท เชียงตุงเรียลเอสเตท แอนด์ ทราเวล จำกัด
เลขที่ใบอนุญาต 21/00833
โทร : 092-891-2277,093-2537733,053-727255
ไลน์ไอดี : @chiangtung
เว๊ปไซค์ : Chiangtungbiz.com
youtube:http://bit.ly/2HDFdMO
 

บทความที่คุณอาจสนใจ

บริษัท ไชยนารายณ์ โกลเบิ้ล จำกัด

66 หมู่1 ถนนโชคชัย4 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพ 10320

Tel ซื้อสินค้า : 063 5599 896

Tel ซื้อสินค้า : 092 891 2277

Tel ท่องเที่ยว :

Line ซื้อสินค้า : @chainarai

Line ท่องเที่ยว : @chainarai

Email : chainarai456@gmail.com

แผนที่

เพจ สิบสองปันนา หลวงพระบาง

เพจ เชียงตุง อยู่ดีกินหวาน